Just another WordPress.com site

คอลัมม์/บทความ


รู้จักเด็ก LD เด็กแววดีที่เรียนอ่อน
เขียนโดย มนต์ชยา
ลูกของคุณหรือตัวคุณเคยเป็นอย่างนี้บ้างไหม ?

ลำบากยุ่งยากกับเรื่องการเรียนที่โรงเรียน ทั้งๆ ที่ดูจะเก่งพอตัว

พยายามฟังครูสอน แต่ไม่อาจตัดความรำคาญจากเสียงรบกวนอื่นๆ ในห้องหรือข้างๆ ห้องได้

รู้สึกหนักใจต่อการปฏิบัติตามแนวทางหรือกฎเกณฑ์ของโรงเรียน บางครั้งตื่นขึ้นมาแล้วเป็นวันที่ต้องไปโรงเรียน แต่อยากจะนอนอยู่บนเตียงไปเรื่อย

อยากมีเพื่อนหลายๆ คน แต่ไม่รู้ว่าจะพูดว่าอย่างไร

อยากให้พ่อแม่อนุญาตให้ทำสิ่งต่างๆ ตามแบบของตัวเอง แทนที่จะให้มานั่งจมอยู่กับการบ้านเป็นชั่วโมง เ

รียนอะไรก็มักลืมง่าย ได้หน้าลืมหลัง ยุ่งยากในการอ่าน ถึงอ่านไม่ออก และอ่านแล้วไม่เข้าใจ

ไม่ชอบเรียนเลข ปวดหัว ทำงานสกปรก ลายมือไม่สวย ได้ยินที่ครูพูดชัดเจน แต่จับใจความไม่ได้

สับสนเรื่องเวลา พูดคล่อง ถามเก่ง แต่ไม่ค่อยฟังคำตอบ

หากตอบว่า “ใช่” ในข้อใดๆ จากคำถามเหล่านี้ ก็คงเข้าข่ายของเด็ก “แววดีที่เรียนอ่อน” หรือ LD

LD หมายความว่าอะไร LD เป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า “Learning Disabled” คือ ไร้ความสามารถ หรือด้อยความสามารถในการเรียนรู้ แต่บ้างก็ว่า หมายถึง “Learning Difficulties” คือมีปัญหายุ่งยากในการเรียนรู้ บางคนก็ว่าหมายถึง “Learning Different” ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ที่แตกต่างออกไป เราไม่อาจตัดสินความหมายนี้สำหรับทุกๆ คน แต่ก็พอจะบอกได้ว่า เด็กแต่ละคนจะมีลักษณะบ่งชี้ว่าหมายถึงอะไร โดยภาพรวม LD จึงหมายถึงปัญหาทางการเรียนรู้ โดยที่ไม่ได้มีความบกพร่องทางสติปัญญา การเห็น การได้ยิน แต่อย่างใด

หลายๆ คนมีระดับเชาว์ปัญญาเท่าหรือสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเสียอีก ทำไมเด็กบางคนจึงเป็น LD ใช่ว่าทุกคนที่เป็น LD จะเหมือนกันไปหมด บางคนเพียงแต่มีปัญหาเกี่ยวการเรียนรู้เล็กๆ น้อยๆ แต่บางคนก็มีปัญหามากมายในการอ่าน การฟัง การพูด การเขียน บ้างก็ยุ่งยากลำบากอย่างยิ่งกับการคิดคำนวณ หรือสับสนทิศทาง ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเคยศึกษาติดตามเด็กชายกรวีร์ ซึ่งเป็นเด็ก LD ที่เฉลียวฉลาด แต่มีปัญหาเรื่องการสะกดคำ เมื่อเขาเรียนถึงชั้นมัธยมปลาย เขาสอบคณิตศาสตร์ได้คะแนนสูงสุดของนักเรียนร่วมชั้นทั้งหมด อีกกรณีคือเด็กหญิงสวนีย์ อายุ 8 ขวบ เธอมีปัญหาเรื่องการบวกลบเลขง่ายๆ แต่กลับอ่านหนังสือได้ดีมาก เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น LD คณิตศาสตร์

ไม่มีใครทราบเกี่ยวกับเรื่อง LD ไปทั้งหมด เราไม่ทราบว่าทำไมเด็ก LD จึงมีความแตกต่างมากมายหลายแง่มุม ทั้งยังไม่รู้ว่าทำไมบางคนจึงเป็น LD ในขณะที่หลายๆ คนไม่เป็น นักวิชาการพบว่า ปัญหาของ LD นั้นเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของกระบวนการทางจิตวิทยา เช่น การรับรู้ การเรียบเรียง หรือการแปลความของข้อมูลที่ได้รับ ตลอดจนการประมวลข้อมูลเพื่อส่งออกหรือโต้ตอบเราจึงพบว่าเด็ก LD มีปัญหาแตกต่างกันไปบ้างก็เกี่ยวข้องกับด้านภาษา บ้างก็เกี่ยวกับการคิดคำนวณ เด็กเหล่านี้มิใช่เด็กโง่ เหลวไหล หรือเกียจคร้าน หลายคนมีความสามารถดีในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหา LD รู้จักเด็ก LD 5 ประเภท เพื่อความเข้าใจในการสังเกตเด็ก LD ได้ง่ายขึ้น

เราอาจจัดประเภทของเด็ก LD ได้ 5 ประเภทคือ

1. LD ในเรื่องเกี่ยวกับการเรียนที่โรงเรียน เช่น การอ่าน การเขียน การสะกดคำ หรือการคิดคำนวณ บางคนอาจมีปัญหาด้านเดียว บางคนมีหลายด้าน โดยที่ยังอาจเป็นคนเก่งในเรื่องอื่น เช่น กีฬา ศิลปะ หรือมีมนุษยสัมพันธ์ดี ครูคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอเคยมีนักเรียนที่เป็น LD ด้านการอ่าน เด็กคนนี้รูปร่างสูง หล่อ และมีเพื่อนมากมาย เขาเป็นนักฟุตบอล เบสบอล เป็นดาวกีฬาของโรงเรียน เขาอ่านหนังสือไม่ค่อยออก จับใจความไม่ได้ แต่ก็ฉลาดพอที่จะเรียนรู้จากการฟังและทำความเข้าใจได้ดีหากมีภาพประกอบ เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมปลายแล้ว เขายังประสบความสำเร็จในการเป็นพนักงานขายประกันชีวิตอีกด้วย เด็ก LD ประเภทนี้ คือเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ทางวิชาการ

2. LD ด้านการฟังและการพูด เด็กประเภทนี้มีความคิดดี แต่ไม่สามารถหาถ้อยคำที่เหมาะสมมาอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ บางคนได้ยินเสียงคนอื่นพูดชัดเจน แต่ไม่ค่อยเข้าใจคำพูดเหล่านั้น หลายคนจึงคิดว่าเด็กไม่ฟัง บางครั้งที่มีคนเล่าเรื่องตลก เขาก็มักไม่หัวเราะในเวลาที่คนอื่นๆ เขาหัวเราะกัน

3. LD ด้านการตั้งใจ ความบกพร่องทางสมาธิ ทำให้เด็กมีปัญหาทางการเรียนรู้ เด็กมีความคิดเกิดขึ้นในหัวพร้อมกันมากมายขณะครูกำลังพูด แต่สิ่งที่ครูพูดทำให้เด็กนึกถึงเรื่องอื่นๆ ตามมา ทั้งยังได้ยินเสียงรบกวนอื่นๆ อีก จึงไม่สามารถรวบรวมความคิดมาจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ครูพูดได้

4. LD ด้านการเคลื่อนไหว เด็ก LD หลายคนเคลื่อนไหวช้าๆ มีความลำบากยุ่งยากในการใช้มือจับดินสอหรือสีเทียน ลายมือจึงยุ่งๆ อ่านไม่ค่อยออก ทำงานสกปรก ลบแล้วลบอีก บางคนเล่นเกมเล่นกีฬาไม่สันทัด มักเป็นคนสุดท้ายที่จะถูกคัดเข้าร่วมทีม เพื่อนๆ มักล้อเลียนว่าเป็นเจ้าเต่างุ่มง่าม

5. LD ด้านความรู้สึก คนทั่วไปมักแสดงความรู้สึกจากการกระทำ การส่งสัญญาณจากน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง คำพูด เช่น การขมวดคิ้ว หน้าบึ้ง แสดงถึงความไม่พอใจ หรือเสียงพูดที่เกรี้ยวกราด ก็แสดงถึงอารมณ์โกรธ เด็ก LD ที่มีปัญหาเรื่องนี้ มักไม่เข้าใจ “สัญญาณ” เหล่านี้ หรือเข้าใจได้ช้า ทั้งยังเข้าใจผิดพลาด จึงทำให้มีปัญหาทักษะทางสังคม ตัวอย่างเช่น ด.ช.แก้ว อายุ 10 ขวบ ที่พูดเสียงดัง ถามแม่ว่าผู้หญิงท้วมที่ยืนอยู่ข้างหน้าขณะต่อแถวเพื่อชำระค่าสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง กำลังมีลูกใช่ไหม ? คุณแม่ขมวดคิ้ว สั่นศีรษะเป็นเชิงปรามให้เขาหยุดพูด แต่เขาไม่เข้าใจความหมาย จึงตะโกนถามซ้ำอีกครั้งด้วยเสียงที่ดังกว่าเดิมพร้อมกับยกมือชี้ไปที่ผู้หญิงคนนั้น บ้านและการบ้านของเด็ก LD เ

ราทุกคนที่เป็นพ่อแม่ต่างต้องการเป็นพ่อแม่ที่ดี เราคิดเสมอว่า วิธีหนึ่งคือ เราต้องแน่ใจว่า ลูกทำการบ้านเรียบร้อย มีระเบียบวินัย การคิดเช่นนี้ไม่มีอะไรผิด อย่างน้อยก็เป็นเรื่องดีที่ควรใส่ใจ แต่ถ้าลูกคุณเป็นเด็ก LD คุณอาจต้องระวังที่จะไม่ไปกดดันเด็กมากเกินไปเกี่ยวกับเรื่องการบ้าน สำหรับเด็ก LD แล้ว เรื่องการบ้านนั้นเป็นเรื่องยาก น่าเบื่อ มันยุ่งยากทั้งวันทุกวัน ลองคิดดูสิว่า ถ้าเราต้องคับข้องใจทั้งวัน และพอกลับถึงบ้านก็ถูกบังคับให้เรียนสิ่งที่ได้มาจากโรงเรียนอีก คือการทำการบ้านเป็นเวลานาน เด็กจะรู้สึกอย่างไร บ้านอย่างนั้นคงไม่ใช่สวรรค์ของเด็ก LD แน่ บ้านควรเป็นที่ๆ เขาผ่อนคลาย และเป็นตัวของตัวเองบ้าง ถ้าการบ้านของลูกมากเกินไป คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะคุยกับครูของลูกว่า ลูกใช้เวลานานเท่าไรจึงจะทำการบ้านเสร็จ เพื่อครูจะได้ปรับการให้การบ้านที่เหมาะสม เด็ก LD หลายคนจะค่อยๆ สะสมความรู้ว่าตนล้มเหลวและเริ่มมีอาการหดหู่ ซึมเศร้า ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องถึงกับมีความเครียดสูง มีอาการเจ็บป่วยทางกาย ละเมอ เกลียดชัง ก้าวร้าว จึงควรที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังและเอาใจใส่ใกล้ชิด เพื่อร่วมกันลดหรือแก้ปัญหาดังกล่าว

[ ที่มา..นิตยสารบันทึกคุณแม่ ปีที่ 10 มีนาคม 2547 ]
LD เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้

เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ ( Learning Disabilities : LD)
โดย อทิตา หมีวรรณ *นักการศึกษาพิเศษประจำศูนย์ฯ Smartkids

เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ (L.D)
หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในกระบวนการพื้นฐาน ทางจิตวิทยาที่เกี่ยวกับความเข้าใจหรือการใช้ภาษา อาจเป็นการพูดและ/หรือภาษาเขียน หรือการคิดคำนวณ รวมทั้งสภาพความบกพร่องในการรับรู้ สมองได้รับบาดเจ็บกาปฏิบัติงานของสมองสูญเสียไป

สาเหตุ

การได้รับบาดเจ็บทางสมองเนื่องจากระบบประสาทส่วนกลางได้รับบาดเจ็บไม่สามารถทำงานได้เต็มที่
กรรมพันธุ์ เนื่องจากงานวิจัยจำนวนมากระบุว่า ถ้าหากพ่อแม่ ญาติ พี่น้องที่ใกล้ชิดเป็นจะมีโอกาส ถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม
สิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การได้รับบาดเจ็บทางสมอง หรือกรรมพันธุ์ เช่น การพัฒนาการช้า เนื่องจากการได้รับสารอาหารไม่ครบ ขาดสารอาหาร มลพิษ การเลี้ยงดู
ลักษณะทั่วไปของเด็ก LD
มีความบกพร่องทางการพูด
มีความบกพร่องทางการสื่อสาร
มีปัญหาในการเรียนวิชาทักษะ
มีปัญหาในการสร้างแนวความคิดรวบยอด
การทดสอบผลการเรียนให้ผลไม่แน่นอนมากแก่การพยากรณ์
มีความบกพร่องทางการรับรู้
มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว
มีอารมณ์ไม่คงที
โยกตัวหรือผงกศีรษะบ่อยๆ
มีพัฒนาการทางร่างกายไม่คงที่
มีพฤติกรรมไม่คงเส้นคงว่า
เสียสมาธิง่ายแสดงพฤติกรรมแปลกๆ
มีปัญหาในการสร้างความ สัมพันธ์กับเพื่อน
การบกพร่องทางการอ่าน

จำตัวอักษรไม่ได้ จำตัวอักษรได้แต่อ่านเป็นคำไม่ได้
ความสามารถในการอ่านต่ำกว่านักเรียนอื่นในชั้นเดียวกัน
ระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยหรือสูงกว่าเกณฑ์
เข้าใจภาษาได้ดีหากได้ฟังหรือมีคนอ่านให้ฟัง
อ่านคำโดยสลับตัวอักษร
ไม่เข้าใจว่าตัวอักษรใดมาก่อน – หลัง
เด็กบางคนมีความไวในการฟัง
เด็กบางคนอาจมีความไวในการใช้สายตา
มีความยากลำบากในการจำรูปพยัญชนะและการอ่านพยัญชนะ
มีความยากลำบากในการแยกแยะเสียง เช่น การแยกแยะเสียง บ ป พ
มีความยากลำบากในการจำรูปสระและการอ่านสระ
การออกเสียงคำไม่ชัด หรือไม่ออกเสียงบางเสียงบางครั้งออกเสียงรวบคำ
ไม่สามารถอ่านคำได้ถูกต้อง เช่น การอ่านคำที่มีวรรณยุกต์กำกับการอ่านคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา
อ่านคำโดยสลับตัวอักษร เช่น “ นก” เป็น “ กน” “ งาน” เป็น “ นาง” เป็นต้น
ไม่สามารถอ่านข้อความหรือประโยคได้ถูกต้อง เช่น อ่านข้ามคำ อ่านตกหล่น อ่านเพิ่มคำ อ่านสลับคำ
ไม่สามารถเรียงลำดับจากเรื่องที่อ่านได้
จับข้อเท็จจริงจากเรื่องที่อ่านไม่ได้
จับใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่านไม่ได้
การบกพร่องทางการเขียน

ไม่สามารถลอกคำที่ครูเขียนบนกระดานลงบนสมุดได้
เขียนประโยคตามครูไม่ได้
ไม่สามารถแยกรูปทรงทางเรขาคณิตได้
เรียงคำไม่ถูกต้อง
มีความยากลำบากในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และเลขไทย เช่น เด็กจะลากเส้นวน ๆ ไม่รู้ว่าจะม้วนหัวเข้าในหรือออกนอก ขีดวน ๆ ซ้ำ ๆ
เขียนพยัญชนะ สระ และเลขไทยกลับด้านคล้ายมองจากกระจกเงา
มีความสับสนในการเขียนพยัญชนะ และเลขไทยมีลักษณะคล้ายกัน เช่น ค – ด , น – ม , พ – ผ , ๓ – ๗ , ๔ – ๕
เขียนด้วยลายมือที่อ่านไม่ออก
เขียนเรียงลำดับพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ในคำผิด ตำแหน่ง เช่น “ ปลา” เป็น “ ปาล”“ หมู” เป็น “ หูม” “ กล้วย” เป็น “ ก้ลวย”
เขียนไม่ได้ใจความ
เขียนหนังสือ ลอกโจทย์จากกระดานช้าเพราะกลัวสะกดผิด
เขียนไม่ตรงบรรทัด เขียนต่ำหรือเหนือเส้น ขนาดตัวอักษรไม่เท่ากัน ไม่เว้นขอบกระดาษ ไม่เว้นช่องไฟ
จับดินสอหรือจับปากกาแน่นมาก
ลบบ่อยๆ เขียนทับคำเดิมหลายครั้ง เขียนตัวหนังสือตัวโต
การบกพร่องทางด้านคณิตศาสตร์

มีปัญหาในการบอกความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง
ไม่เข้าใจความหมายของจำนวน
ไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ได้ยินกับสิ่งที่มองเห็น
ไม่เข้าใจปริมาณ เมื่อขนาดเปลี่ยนไป
ทำเลขไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นบวก ลบ คูณ หาร เพียงอย่างเดียวหรือทั้ง 4 อย่าง
ไม่เข้าใจความหมายของตัวเลขที่นำมาเรียงกันทางคณิตศาสตร์
ไม่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนในการคำนวณได้
ไม่เข้าใจในการอ่านแผนและกราฟ
มีปัญหาในการทำเลขโจทย์
ไม่เข้าใจเกี่ยวกับค่าประจำตำแหน่ง เช่น จะไม่รู้ว่าเลข “ 3 ” ในจำนวนต่อไปนี้ 23 , 38 , 317 มีค่าแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลทำให้มีความยุ่งยากในการบวก ลบ คูณ หาร จำนวน และไม่สามารถหาคำตอบที่ถูกต้องได้
ไม่สามารถจำ และเขียนสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ได้ เช่น “ + แทน การบวก” “ – แทน
การลบ” “ X แทน การคูณ” และ “ ? แทน การหาร”
คำแนะนำแก่ครูและผู้ปกครอง

พยายามใจเย็นๆ เมื่อคุณฟังเด็กพูด หรือรอเด็กเขียน เพราะเด็กอาจพูดหรือเขียนได้ไม่คล่องและต้องใช้เวลาสักนิด
แสดงความรักต่อเด็ก
มองหาจุดแข็งและความสามารถอื่นๆ พยายามสร้างจุดแข็งเหล่านั้นให้ทดแทนความบกพร่องที่เด็กมี
อย่าลืมชมเมื่อเด็กทำอะไรได้ดี แม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็ตาม
ยอมรับนับถือในตัวเด็ก ว่าเด็กก็เป็นบุคคลที่มีความหมายและมีสิ่งดี ๆ ในตนเองเหมือนกัน
มีความคาดหวังที่เหมาะสม
เมื่อเด็กทำผิด เช่น เขียนผิด อ่านผิด จงอย่าบ่น ช่วยเด็กแก้ไขข้อที่ผิดอย่างอดทน
อ่านหนังสือสนุกๆ กับเด็ก กระตุ้นให้เด็กถามคำถาม เล่าเรื่อง และแสดงความคิดเห็น

ขอขอบคุณ: http://www.iamsmartkids.com

รับสอนพิเศษเด็ก LD รับสอนพิเศษเด็กที่มีปัญหาทางด้านการเรียนรู้ ( LD ) โดย.คุณครู แจง Tel.084-0713712 087-7178979 087-7174979 รับเด็กในจำนวนจำกัด เพื่อให้การเรียน-การสอนมีประสิทธิภาพเพื่อให้เด็กสามารถที่จะทำการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีในช่วงที่มีระยะเวลาเพียงสั้นๆก็จะทำให้เด็กๆสามารถที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้รวดเร็วและคุณครูก็สามารถที่จะทำการดูแลเด็กๆได้อย่างใกล้ชิดและทั่วถึง ปกติเรียน จะเรียนสัปดาห์ละหนึ่งวัน วันละ 2 ชั่วโมง โดยจะจัดเรียน ห้องหนึ่งไม่เกิน 3 คน
โดยสามารถเลือกเรียน วันเสาร์ หรือ วันอาทิตย์ วันใดวันหนึ่งก็ได้
ทั้งนี้เรื่องเวลาเรียน ผู้ปกครองสามารถตกลงกับคุณครูเพื่อจัดเวลาให้เหมาะสมได้

หากผู้ปกครองมีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับ ปัญหาของเด็ก หรือไม่แนใจว่าเด็กของตนจะมีปัญหาหรือไม่
หรือต้องการทราบรายละเอียดในเรื่อง L D หรือเรื่องใดๆ เช่นเวลา หรือสถานที่
รบกวนให้ผู้ปกครองโทรติดต่อพูดคุยกับ คุณครูแจงได้โดยตรง
เพราะจะสามารถอธิบายได้เข้าใจกว่านะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ใส่ความเห็น